ประวัติวัดกาศผาแพร่
|
ประวัติวัดกาศผาแพร่ จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอความเป็นมาที่มาที่ไปต่างๆ ของวัดกาศผาแพร่และหมู่บ้านชุมชนบ้านกาศผาแพร่ เพื่อเป็นการศึกษาเรียนรู้และเพื่อผู้ที่ต้องการ ผู้สนใจในรายละเอียดบางส่วนของทางวัดกาศผาแพร่ เป็นการเปิดหน้าต่างบานเล็กๆ ของผู้ที่ต้องการค้นหาความรู้ในรายวิชาการต่างๆ จึงขอฝากเน้นย้ำต่อทุกท่านว่าขอให้ใช้ข้อมูลของทางวัดกาศผาแพร่ในทางที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่ตามมาต่อผู้ดูแลข้อมูล |
ประวัติวัดกาศผาแพร่
ก่อนเดิมที ณ สถานที่แห่งนี้ คือ
พื้นที่บ้านกาศผาแพร่ในปัจจุบัน เป็นพื้นที่ที่เป็นป่ารกมาก
ไม่มีเจ้าของไม่มีผู้ใดจับจอง ต่อจากนั้นมาไม่นานนักจึงได้มีชาวบ้านจากบ้านกาศหลวง
อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ประมาณ 20
กว่าคนได้มาบุกเบิกพื้นที่แห่งนี้
เป็นที่ทำมาหากิน เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่
ที่มีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเนินป่าไม้ สลับกับทุ่งหญ้าและ ภูผาน้อยใหญ่ ที่สลับซับซ้อนกันอย่างมาก
มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ ทำสวน ปลูกพืชไร่ และทำนาจึงทำให้ชาวบ้านที่เดินทางมาจากบ้านกาศหลวง
ได้พากันเรียกพื้นที่นี้ว่า “ผาแพร่” เพราะมีภูผาน้อยใหญ่มากมาย
จึงตกลงกันว่าเอาพื้นที่แห่งนี้เป็นที่ทำมาหากิน ทำไร่ ไถนา เลี้ยงสัตว์
ปลูกพืชผักต่างๆ มาเป็นเวลานานหลายปีพอสมควร จึงได้ปรึกษาหารือกันว่า
ระยะการเดินทางระหว่างอำเภอสูงเม่น กับอำเภอร้องกวางห่างไกลกันมากประมาณ 50
กิโลเมตร
ในสมัยนั้นการเดินทางไปไหนมาไหนจะใช้โคเทียมเกวียน บ้างก็เดินเท้าเปล่า โดยการพักค้างแรมจนกว่าจะถึงก็ใช้เวลานานนับหลายวันจึงได้ชักชวนครอบครัว
ลูกหลาน ญาติพี่น้อง และเพื่อนผู้สนิทชิดเชื้อมาอยู่ด้วยกันในสถานที่แห่งนี้
เพราะเกิดการคุ้นเคยกับสภาพภูมิอากาศและสภาพภูมิประเทศจึงมาสร้างกระท่อมทำเป็นเพิงมุงหญ้าคาเล็กๆ
โดยอาศัยการทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ และหาของป่า เพื่อดำรงชีพเป็นวันๆ
โดยไม่กลับไปที่อำเภอสูงเม่น จึงได้ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ที่ผาแพร่แห่งนี้ ต่อมามีการตั้งชื่อหมู่บ้านจึงนำชื่อหมู่บ้านที่ตนเคยย้ายมาผสมกับชื่อหมู่บ้านใหม่
จึงได้ชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านกาศผาแพร่”
หลังจากนั้นมาบ้านกาศผาแพร่จึงมีการกระจายตัวของจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น
และได้มีการขยับขยายการสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นตามมาภายหลัง ชาวบ้านกาศผาแพร่ทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ
เป็นศาสนาประจำต้นตระกูล พอถึงวันพระก็จะต้องเดินทางไปทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา
คือ ทำบุญตักบาตรที่วัดอีกหมู่บ้านหนึ่ง ที่อยู่ไกลออกไปคือวัดวังโป่ง
มีระยะทางร่วมประมาณ 2 กิโลเมตร
และการไปแต่ละครั้งนั้นต้องเดินเท้าผ่านทุ่งหญ้าและทุ่งนา
ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวที่ใกล้ที่สุด และสะดวกที่สุด แต่จะมีความลำบากมากช่วงเข้าพรรษา
คือระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม
ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางมีสภาพที่เปียก ชื้น แฉะ
เต็มไปด้วยแอ่งน้ำและดินโคลน ซึ่งเป็นอุปสรรคและอันตรายต่อการเดินทางด้วยเท้าและส่วนใหญ่จะเป็นผู้เฒ่า
ผู้แก่ที่เดินทางไปทำบุญที่วัดนั้น
ต่อมาประมาณปี
พ.ศ. 2506 คณะศรัทธาชาวบ้านได้ประชุมกันครั้งใหญ่ว่าจะทำกันอย่างไร
ในเมื่อถึงวันพระวันสำคัญทางพระพุทธ ศาสนาจะไปที่วัดวังโป่งระยะทางนั้นก็ไกลมาก
พอถึงฤดูฝนก็มีความลำบากในการเดินทางและส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงอายุ
หลังจากมีการประชุมนั้นได้ไม่นานนัก จึงมีกลุ่มแกนนำโดยมี พ่อใหญ่อุ่นใจ มูลเมือง
พ่อใหญ่ปั๋น อินต๊ะวัง
พ่อใหญ่สี มูลเมือง พ่อหนานสม มูลเมือง
ทั้งสี่ท่านได้รวมกันชักชวนชาวบ้านกาศผาแพร่ทุกคนให้ไปช่วยกันแผ้วถางพื้นที่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน
ซึ่งเป็นเนินเขาเตี้ยๆ เพื่อสร้างสำนักสงฆ์ขึ้น
ต่อจากนั้นมา
วันที่ 9 ธันวาคม
2510 ผู้ใหญ่ประเสริฐ อินทราวุธ
และคณะกรรมการร่วมกับคณะชาวบ้านบ้านกาศผาแพร่ ได้รวมพลังสามัคคีธรรม สร้างศาสนาวัตถุขึ้นครั้งแรกในสถานที่พักสงฆ์
คือ สร้างกุฎิ 1 หลัง
และสร้างศาลา 1
หลัง เป็นแบบกระท่อมมุงด้วยหญ้าคา และได้ตั้งชื่อขึ้นว่า “วัดดอยผาคำ” จนถึง พ.ศ. 2529 พอเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้ไปกราบอาราธนานิมนต์พระสงฆ์จากวัดพระหลวงธาตุเนิ้งอำเภอสูงเม่น
จังหวัดแพร่ มาจำพรรษามีนามว่า “พระอาจารย์สุข สุขวิจฺจโย (เด็ดขาด)”
มาเป็นองค์สังฆะองค์แรกของวัดดอยผาคำ เมื่อปี พ.ศ.2511 จึงทำให้ชาวบ้านทุกคนเกิดความปลื้มปิติยินดี
และเกิดความภาคภูมิใจและมีกำลังใจมากขึ้น
และรวมกันพัฒนาวัดด้วยความสามัคคีปรองดองกันตลอดมา
จนกระทั่งวันที่
20 พฤศจิกายน
2547
เวลาประมาณ 15.45 น.ได้เกิดเหตุไฟไหม้ศาลาการเปรียญของวัดกาศผาแพร่
ภายหลังจากนั้นชาวบ้านได้รวมกันช่วยบูรณะซ่อมแซมศาลาหลังเดิมที่ถูกไฟไหม้ขึ้น
จนแล้วเสร็จ ต่อจากนั้นมาไม่นานนักในวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม
2552 ก็ได้ร่วมกันริเริ่มก่อสร้างวิหารหลังใหม่ขึ้นมา. ที่ปรึกษาและเรียบเรียงประวัติวัดกาศผาแพร่ โดย 1. พระอธิการธวัชชัย สิริภทฺโท เจ้าอาวาสวัดกาศผาแพร่ 2. พระพันธเมศร์ จิรวฑฺฒโน วัดโศภนาลัย อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ 3. พระณัฐพล มหาวีโร วัดกาศผาแพร่ 4. นายดำรงศักดิ์ เสนรังษี บ้านกาศผาแพร่ ต.ร้องกวาง อ.ร้องกวาง จ.แพร่ เมื่อ วันพฤหัสบดี ที่ 11 เดือนกันยายน ปีพุทธศักราช 2555
ไปหน้านี้คลิก
|
วัดกาศผาแพร่ ได้รับอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนเป็นเลขที่ ๑ แล้วเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔ "วัดกาศผาแพร่ เลขที่ ๑ หมู่ที่ ๔ ต.ร้องกวาง อ.ร้องกวาง จ.แพร่" ส่วนไหนที่มีข้อผิดพลาดประการใดขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย กรุณาให้คำแนะนำหรือติดต่อได้ที่อีเมลล์ E-mail : nuttapon_kwang@hotmail.com โทรศัพท์ : 086-1162-219 |