|
มีความจริงอยู่ 4 ประการคือ การมีอยู่ของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์
และ หนทางไปสู่ความดับทุกข์ ความจริงเหล่านี้เรียกว่า อริยสัจ 4
1. ทุกข์
คือ การมีอยู่ของทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ และตายล้วนเป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความโกรธ
ความอิจฉาริษยา ความวิตกกังวล ความกลัวและความผิดหวังล้วนเป็น ทุกข์ การพลัดพรากจากของที่รักก็เป็นทุกข์
ความเกลียดก็เป็นทุกข์ ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น ความยึดติดในขันธ์ทั้ง
5 ล้วนเป็นทุกข์
2. สมุทัย
คือ เหตุแห่งทุกข์ เพราะอวิชา ผู้คนจึงไม่สามารถเห็นความจริงของชีวิต พวกเขาตกอยู่ในเปลวเพลิงแห่งตัณหา
ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความเศร้าโศก ความวิตกกังวล ความกลัว และความผิดหวัง
3. นิโรธ
คือ ความดับทุกข์ การเข้าใจความจริงของชีวิตนำไปสู่การดับความเศร้า โศกทั้งมวล
อันยังให้เกิดความสงบและความเบิกบาน
4. มรรค
คือ หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์ อันได้แก่ อริยมรรค 8 ซึ่งได้รับการหล่อ เลี้ยงด้วยการดำรงชีวิตอย่างมีสติความมีสตินำไปสู่สมาธิและปัญญาซึ่งจะปลดปล่อย
ให้พ้นจากความทุกข์และความโศกเศร้าทั้งมวลอันจะนำไปสู่ความศานติและ ความเบิกบาน
พระพุทธองค์ได้ทรงเมตตานำทางพวกเราไปตามหนทางแห่งความรู้แจ้งนี้
อริยสัจ หรือจตุราริยสัจ หรืออริยสัจ ๔
เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ
ความจริงของพระอริยะ หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ
มีอยู่สี่ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ทุกข์ ในทางศาสนาพุทธคือ ไตรลักษณ์(หลักสัจจธรรมของพุทธศาสนา)
เป็นลักษณะสภาพพื้นฐานธรรมชาติอย่างหนึ่ง จากทั้งหมด 3 ลักษณะ
ที่พุทธศาสนาได้สอนให้เข้าใจถึงเหตุลักษณะแห่งสรรพสิ่งที่เป็นไปภายใต้กฎ
ไตรลักษณ์ อันได้แก่
- อนิจจัง (ความไม่เที่ยงแท้)
- ทุกขัง (ความทนอยู่อย่างเดิมได้ยาก)
- อนัตตา (ความไม่มีแก่นสาระ)
เหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ได้แก่ ปฏิจจสมุปบาท (หลักศรัทธาของพุทธศาสนา)
พุทธศาสนา สอนว่า ความทุกข์ ไม่ได้เกิดจากสิ่งใดดลบันดาล
หากเกิดแต่เหตุและปัจจัยต่างๆ มาประชุมพร้อมกัน
โดยมีรากเหง้ามาจากความไม่รู้หรือ อวิชชา ทำให้กระบวนการต่างๆ ไม่ขาดตอน เพราะนามธาตุที่เป็นไปตามกฎนิยาม ตามกระบวนการที่เรียกว่ามหาปัฏฐาน ทำให้เกิดสังขารเจตสิกกฎเกณฑ์การปรุงแต่งซึ่งเป็นข้อมูลอันเป็นดุจพันธุกรรมของจิต วิวัฒนาการเป็นธรรมธาตุอันเป็นระบบการทำงานของนามขันธ์ที่ประกอบกันเป็นจิต ( อันเป็นสภาวะที่รับรู้และเป็นไปตามเจตสิกของนามธาตุ) และเป็นวิญญาณขันธ์
ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นธาตุแสง (รังสิโยธาตุ)
อันเกิดจากการทำงานของนามธาตุอย่างเป็นระบบ
จนสามารถประสานหรือกำหนดกฎเกณฑ์รูปขันธ์ ของชีวิตินทรีย์ (เช่นไวรัส
แบคทีเรีย ต้นไม้ เซลล์ ที่มีชีวิตขึ้นมาเพราะกฎพีชนิยาม)
ทำให้เหตุผลของรูปขันธ์เป็นไปตามเหตุผลของนามขันธ์ด้วย
(จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว)
ทำให้รูปขันธ์ที่เป็นชีวิตินทรีย์พัฒนามีร่างกายที่สลับซับซ้อนมีระบบการทำ
งานจนเกิดมีปสาทรูป 5 รวมการรับรู้ทางมโนทวารอีก 1 เป็นอายตนะทั้ง 6 เมื่ออายตนะกระทบกับสรรพสิ่งที่มากระทบจนเกิดผัสสะ จนเกิดเวทนา คือ ความสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง(อุเบกขา)
- เพราะอาศัย เวทนา จึงมี ตัณหา
- เพราะอาศัย ตัณหาจึงมี การแสวงหา (ปริเยสนา)
- เพราะอาศัย การแสวงหา จึงมี การได้ (ลาโภ)
- เพราะอาศัย การได้ จึงมี ความปลงใจรัก (วินิจฺฉโย)
- เพราะอาศัย ความปลงใจรัก จึงมี ความกำหนัดด้วยความพอใจ (ฉนฺทราโค)
- เพราะอาศัย ความกำหนัดด้วยความพอใจ จึงมี ความติดอกติดใจ (ปริคคฺโห)
- เพราะอาศัย ความจับอกจับใจ จึงมี ความตระหนี่ (มฺจฉริยํ)
- เพราะอาศัย ความตระหนี่ จึงมี การหวงกั้น (อารกฺโข)
- เพราะอาศัย การหวงกั้น จึงมี เรื่องราวอันเกิดจากการหวงกั้น
(อารกฺขาธิกรณํ) กล่าวคือ การใช้อาวุธไม่มีคม การใช้อาวุธมีคม การทะเลาะ
การแก่งแย่ง การวิวาท การกล่าวคำหยาบว่า “มึง ! มึง !” การพูดคำส่อเสียด
และการพูดเท็จทั้งหลาย : ธรรมอันเป็นบาปอกุศลเป็นอเนก
ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยอาการอย่างนี้ และยึดว่าสิ่งนั้นๆเป็นตัวกู (อหังการ)
ของกู (มมังการ)
ทำให้มีอุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) เพราะมีสัญญาการสมมุติว่าเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้จึงมี จึงเกิดการสร้างภพของจิตหรือภวังคจิต(จิตใต้สำนึก) และสร้างกรรมอันเป็นเหตุแห่งการสร้างภพชาติขึ้นมา
สู่การเวียนว่ายตายเกิดของจิตวิญญาณทั้งหลายนับชาติไม่ถ้วน ผ่านไประหว่าง วัฏสงสารทั้ง 31 ภูมิ (มิติต่าง ๆ ตั้งแต่เลวร้ายที่สุด (นรก) ไปจนถึงสุขสบายที่สุด (สวรรค์)) ในโลกธาตุที่เหมาะสมในเวลานั้นที่สมควรแก่กรรม นี้เรียกว่า สังสารวัฏ
สำหรับการเวียนว่ายของจิตวิญญาณมีเหตุมาจาก "อวิชชา"
คือความที่จิตไม่รู้ถึงความเป็นจริง
ไปหลงผิดในสิ่งสมมุติต่างๆซึ่งเป็นรากเหง้าของกิเลสทั้ง
หลาย เมื่อจิตยังมีอวิชชาสัตว์โลกย่อมเวียนว่ายตายเกิด
และประสบพบเจอพระไตรลักษณ์อันเป็นเหตุให้ประสบทุกข์มีความแก่และความตาย
เป็นต้น ไม่สิ้นสุด จนกว่าจะทำลายที่ต้นเหตุคืออวิชชาลงได้
ความดับทุกข์ (นิโรธ) คือ นิพพาน ( เป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา ) อันเป็น แก่นของศาสนาพุทธ เป็นความสุขสูงสุด หรือเรียกอีกอย่างว่า
- วิราคะปราศจากกิเลส
- วิโมกข์พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
- อนาลโย ไม่มีความอาลัย
- ปฏินิสสัคคายะการปล่อยวาง
- วิมุตติ การไม่ปรุงแต่ง
- อตัมมยตา ไม่หวั่นไหว
- และสุญญตา ความว่าง
เนื่องจากธรรมดาของสัตว์โลกมีปกติทำความชั่วมากโดยบริสุทธิ์ใจในความเห็นแก่ตัว ทำดีน้อยซึ่งไม่บริสุทธิ์ใจ ซ้ำหวังผลตอบแทน จึงมีปกติรับทุกข์มากกว่าสุข ดังนั้น ถ้าเป็นผู้มีปัญญาหรือเป็นพ่อค้าที่ฉลาดยอมรู้ว่าขาดทุนมากกว่าได้กำไร และ สุขที่ได้เป็นเพียงมายา ย่อมปรารถนาในพระนิพพาน เมื่อ ขันธ์5
แตกสลาย เจตสิกที่ประกอบกันให้เกิดเป็นจิตนั้นก็แตกสลายตามเช่นเดียวกัน
เพราะไม่มีเหตุปัจจัยจะประกอบกันให้เกิดเป็นจิตนั้น
กรรมย่อมไม่อาจให้ผลได้อีก (อโหสิกรรม) เหลือเพียงแต่พระคุณความดี
เมื่อมีผู้บูชาย่อมส่งผลกรรมดีให้แก่ผู้บูชาเหมือนคนตีกลอง
กลองไม่รับรู้เสียง แต่ผู้ตีได้รับอานิสงส์เสียงจากกลอง
วิถีทางดับทุกข์ (มรรค) คือ มัชฌิมาปฏิปทา (หลักการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนา) ทางออกไปจากสังสารวัฏมีทางเดียว โดยยึดหลักทางสายกลาง อันเป็นอริยมรรค คือ การฝึกสติ (การทำหน้าที่ของจิตคือตัวรู้ให้สมบูรณ์) เป็นวิธีฝึกฝนจิตเพื่อให้ถึงซึ่งความดับทุกข์หรือมหาสติปัฏฐาน
โดยการปฏิบัติหน้าที่ทุกชนิดอย่างมีสติด้วยจิตว่างตามครรลองแห่งธรรมชาติ
มีสติอยู่กับตัวเองในเวลาปัจจุบัน
สิ่งที่กำลังกระทำอยู่เป็นสิ่งสำคัญกว่าทุกสรรพสิ่ง
ทำสติอย่างมีศิลปะคือรู้ว่าเวลาและสถานการณ์เช่นนี้
ควรทำสติกำหนดรู้กิจใดเช่นไรจึงเหมาะสม จนบรรลุญานตลอดจน มรรคผล เมื่อจำแนกตามลำดับขั้นตอนของการบำเพ็ญเพียรฝึกฝนทางจิต คือ
- ศีล (ฝึกกายและวาจาให้ละเว้นจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น รวมถึงการควบคุมจิตใจไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจฝ่ายต่ำด้วยการเลี้ยงชีวิตอย่างพอเพียง)
- สมาธิ (ฝึกความตั้งใจมั่นจนเกิดความสงบ (สมถะ) และทำสติให้รับรู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง) (วิปัสสนา) ด้วยความพยายาม
- ปัญญา (ให้จิตพิจารณาธรรมชาติจนรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นเช่นนั้นเอง (ตถตา) และตื่นจากมายาที่หลอกลวงจิตเดิมแท้ (ฐิติภูตัง)
|